ประวัติสมาคมพนักงานสอบสวน

             การสอบสวนเป็นงานยุ่งยากซับซ้อน บางคดีต้องลงมือโดยพลันปล่อยเนิ่นช้าอาจทำให้รูปคดีเสียหาย พนักงานสอบสวนทำงานโดยลำพัง แม้มีหน่วยงานสนับสนุน เช่นกองคดี กองวินัย กองวิชาการอยู่ก็หาประโยชน์มิได้ เพราะเขาสนับสนุนทันทีไม่ได้เพราะต้องโต้ตอบกันเป็นหนังสือ เมื่อเกิดปัญหาก็มักสอบถามรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนร่วมงานซึ่งก็รู้บ้างไม่รู้บ้างตามฐานานุรูปแห่งตน ส่วนผู้บังคับบัญชาบางแห่งก็ดี บางรายก็พึ่งไม่ได้จ้องแต่จะลงทัณฑ์สถานเดียว คุณภาพงานสอบสวนจึงตกต่ำถึงขั้นก่อนปี 2543 ฝ่ายการเมืองในสภาผู้แทนจะโอนอำนาจสอบสวนไปอยู่ฝ่ายปกครอง จนกรมตำรวจขณะนั้นต้องปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนใหม่เป็น พงส(สบ1-4) ตาม มาตรา 21 วรรคสองของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2521 โดยแยกงานสืบสวนออกไปจากตำแหน่งพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนยุคนั้นจึงมีตำแหน่ง พงส.(สบ1)-(สบ3) ไม่มี(สบ4) เพราะไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินไว้ ขึ้นการบังคับบัญชากับ รอง ผกก.(สส) นับแต่นั้นมาสายสอบสวนก็ถูกกีดกันแต่งตั้งขึ้นในสายงานอื่นไม่ได้ หัวจึงชนเพดานอยู่ที่ตำแหน่ง(สบ3)เท่านั้น จะออกข้างเป็นรอง ผกก.(สส) ก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นการออกนอกสายสอบสวน ล่วงมาถึงปี 2543 เพื่อนสายงานอื่นเลื่อนเป็น ผกก.แล้วแต่เรายังย่ำอยู่ที่ (สบ3) หมายความว่าไม่มีเส้นทางความก้าวหน้า ทุกคนตกอยู่ในสภาพเดียวกันหมด จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “ชมรมพนักงานสอบสวนแห่งชาติ” (The Inquiry Official Club of Thailand) ยุคแรกมี พล.ต.ท.นพ.ประเวศ คุ้มภัย เป็นประธานชมรมฯ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อแสวงหาหนทางความก้าวหน้าในสายงานสอบสวน โดยใช้วิธีออกไปสัมมนาให้ความรู้ด้านกฎหมายและสอบสวนแก่พนักงานสอบสวนตามภาคต่างๆ แล้วแสวงหาแนวร่วม เก็บสรรพปัญหามาเสนอหน่วยเหนือเพื่อพัฒนางานสอบสวน ซึ่งก็ไม่พ้นปัญหาเรื่องความก้าวหน้าที่สอดแทรกเข้ามากับปัญหาอื่นด้วย ล่วงถึงปี 2546 เพื่อนต่างสายงานที่เป็น ผกก.ก็เลื่อนเป็น รอง ผบก.กันแล้ว จึงร่วมกันทำหนังสือถึง ตร.ให้มีการประเมิน (สบ4) ผู้แทน ตร.แจ้งว่าหลักเกณฑ์การประเมิน (สบ4) ร่างเสร็จแล้วแต่ให้ระงับไว้ก่อนเพราะ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่เสนอเข้าสภาไปแล้ว หากดำเนินการไปหลักเกณฑ์การประเมินอาจขัดแย้งกับกฎหมายใหม่ขอให้รอก่อน ต่อมา 15 กุมภาพันธ์ 2547 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ประกาศใช้ มีบทบัญญัติว่าด้วยตำแหน่ง เงินประจำตำแหน่งและความก้าวหน้าของพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 44,46 และ 47 จนใกล้สิ้นปี 2548 บทกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีการบังคับใช้ ในขณะที่เพื่อนสายงานอื่นคั่วตำแหน่งนายพลกันแล้ว พนักงานสอบสวน 223 นายโดยการนำของชมรมฯ จึงฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับพวก 5 คน ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีดำที่ 1927/2548 ลง 2 ธันวาคม 2548 ในสามประเด็นคือ หนึ่งให้กำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 สองให้มีเงินตำแหน่งตามมาตรา 46 โดยให้เทียบเคียงพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสามทั้งสองข้อข้างต้นให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่กฎหมายใช้บังคับ ศาลใช้เวลาพิจารณาเกือบ 7 ปี จึงพิพากษาตามฟ้องข้อหนึ่งและข้อสอง ส่วนข้อ 3 ยกฟ้องอ้างว่าไม่มีกฎหมายให้ยอนหลังได้ ผลจากการชนะคดีทำให้มีเงินตำแหน่งเช่นปัจจุบัน เดือนแรกของการรับเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งจึงร่วมใจกันบริจาคให้ชมรมฯ ได้มาประมาณ 12 ล้านบาท ให้ยกฐานะชมรมฯ เป็นสมาคม เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนพนักงานสอบสวนทั่วประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป

             สมาคมพนักงานสอบสวน (The Inquiry Official Association of Thailand) จึงก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 เป็นนิติบุคคลทะเบียน เลขที่ จ.5114/2555 ที่ตั้ง 89 หมู่ 3 อาคารสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทร 02-5512275 , 02-5512524 โทรสาร 02-5521754  e-mail: sobsuan2017@gmail.com